ข้อมูลโครงการ
ความเป็นมาของโครงการ
ทางหลวงหมายเลข 304 เป็นเส้นทางหลักที่สำคัญในการเดินทางคมนาคมขนส่งระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคตะวันออก กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเชื่อมต่อไปยังด่านชายแดนประตูการค้าที่สำคัญของประเทศมากมาย โดยเฉพาะช่วง อ.พนมสารคาม - อ.กบินทร์บุรี ที่มีปริมาณจราจรหนาแน่น และรถบรรทุกหนัก อีกทั้งตามแนวเส้นทางช่วงดังกล่าว ยังมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และชุมชนเมืองขนาบตามแนวเส้นทาง ส่งผลกระทบต่อการจราจรเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นพบว่า แนวเส้นทางโครงการตั้งอยู่ใกล้แหล่งโบราณสถาน แหล่งโบราณคดี และประวัติศาสตร์ จากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการระยะ 1 กิโลเมตร มีโบราณสถาน จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย วัดหลวงบดินทรเดชา และวัดมหาไชย เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อให้การพัฒนาโครงการส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่โครงการน้อยที่สุด
ด้วยเหตุนี้กรมทางหลวง โดยสำนักสำรวจและออกแบบ จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจร บนทางหลวงหมายเลข 304 สาย บ.เขาหินซ้อน - อ.กบินทร์บุรี ตอน บ.ลาดตะเคียน – สี่แยกกบินทร์บุรี เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของทางหลวง ยกระดับมาตรฐานทางหลวงสายหลัก ในด้านอำนวยความสะดวกในการเดินทาง การควบคุมการเข้าออก และเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ทาง
โดยมีเป้าหมายหลักคือการขยายจำนวนช่องจราจรให้เพียงพอต่อปริมาณรถในอนาคต การออกแบบจะคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศ โครงข่ายทางหลวง และระบบระบายน้ำ เพื่อให้การเดินทางสะดวกสบายยิ่งขึ้น รวมทั้งจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบทั้งในระยะก่อสร้างและระยะดำเนินการ
วัตถุประสงค์ของโครงการ
เพื่อสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจร
บนทางหลวงหมายเลข 304 สาย บ.เขาหินซ้อน - อ.กบินทร์บุรี ตอน บ.ลาดตะเคียน – สี่แยกกบินทร์บุรี ระยะทางประมาณ 21.6 กิโลเมตร เพื่อให้การพัฒนาโครงการมีความสมบูรณ์ทางด้านวิศวกรรม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนน
ลดอุบัติเหตุทางจราจร เพิ่มความสะดวกและปลอดภัยแก่ผู้สัญจร
เพื่อศึกษา รวบรวม วิเคราะห์
สภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ปริมาณจราจร และการดำเนินการประเมินผลกระทบทางสังคมที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ
ประโยชน์ของโครงการ
ด้านการจราจรขนส่ง
เพิ่มทางเลือกในการเดินทางและการขนส่ง ซึ่งจะป้องกันและแก้ไขปัญหา ด้านการจราจรติดขัด และเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางในพื้นที่
ด้านความปลอดภัย
เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง ลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวง โดยการขยายช่องจราจรให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ใช้ทาง
ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ
เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านต่าง ๆ ของประเทศ ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของภาค สร้างโอกาสทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวให้แก่พื้นที่โครงการ
ขอบเขตการศึกษา
- งานสำรวจและคาดการณ์ปริมาณจราจร และวิเคราะห์ระดับการให้บริการ
- งานสำรวจแนวทางและระดับ
- งานตรวจสอบดินและวัสดุ
- งานออกแบบรายละเอียดงานทาง
- งานออกแบบรายละเอียดทางแยก
- งานออกแบบโครงสร้างชั้นทาง วิเคราะห์เสถียรภาพและการทรุดตัวของคันทาง
- งานออกแบบโครงสร้างสะพาน โครงสร้างทางแยกต่างระดับอาคารระบายน้ำและโครงสร้างอื่นๆ
- งานระบบระบายน้ำ
- งานระบบไฟฟ้า
- งานสถาปัตยกรรม
- งานด้านสิ่งสาธารณูปโภค
- การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE)
- การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด (EIA)